ผลกระทบน่ากลัว จากสภาวะน้ำแข็งขั้วโลกละลาย
ข้อมูลใหม่ล่าสุดที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้รับจากดาวเทียม ครายโอแซท-2 ของสำนักงานอวกาศแห่งยุโรป ที่เป็นดาวเทียมสำรวจสภาวะอากาศและภูมิศาสตร์โลกที่ทันสมัยที่สุดในเวลานี้ ตอกย้ำความคาดหมายก่อนหน้านี้ที่ว่า ภาวะโลกร้อนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ควรจะเป็นก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้แต่อาศัยเครื่องมือในดาวเทียมตรวจอากาศรุ่นก่อนๆ พบว่าพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ข้อมูลใหม่ที่ได้จากครายโอแซท-2 ที่เป็นดาวเทียมดวงแรกและดวงเดียวในเวลานี้ที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรโดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจสภาพน้ำแข็งขั้วโลก แสดงให้เห็นว่า ความเร็วในการลดลงของปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกเหนือนั้น เร็วกว่าที่คาดเอาไว้มาก
ข้อมูลใหม่ดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า แผ่นน้ำแข็งในหน้าร้อนในมหาสมุทรอาร์กติกนั้นลดลงเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ผลก็คือ ต่อไปในอีกแค่ 2-3 ปี ในหน้าร้อน แผ่นน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะไม่หลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป
ผลกระทบนั้นมีทั้งทางดีและทางร้าย แต่ดูเหมือนผลกระทบในทางลบจะมีมหาศาลกว่ามาก เพราะในขณะที่พื้นที่ทะเลในมหาสมุทรอาร์กติก เปิดกว้างออกส่งผลให้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน สามารถเข้าถึงได้ ก็จะมีคนแห่กันเข้าไปสำรวจหาตั้งแต่ฝูงปลาเรื่อยไปจนถึงน้ำมันและสินแร่ต่างๆ เส้นทางเดินเรือใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ตามมา
ข้อมูลของครายโอแซท-2 แสดงให้เห็นว่า แผ่นน้ำแข็งอาร์กติกไม่เพียงมีขนาดลดลงเร็วมากเท่านั้น ยังบางลงเร็วอย่างยิ่งพร้อมๆ กันไปอีกด้วย ตัวอย่างเช่น พื้นที่ทางเหนือของแคนาดากับกรีนแลนด์ ที่เมื่อ 10 ปีก่อนแผ่นน้ำแข็งบริเวณนั้นจะหนาระหว่าง 5-6 เมตรในหน้าร้อน ตอนนี้ความหนากลับลดลงเหลือเพียง 1-3 เมตรเท่านั้นเอง
ดร.ซีมัวร์ แล็กซ์ซัน จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (ยูซีแอล) หนึ่งในทีมวิเคราะห์ข้อมูลของคราย โอแซทระบุว่า เมื่อขนาดก็ลดลง ความหนาก็ลดลง ทำให้การละลายของน้ำแข็งนั้นเร็วกว่าที่คิดกันไว้ จะส่งผลให้พื้นที่ที่ใช้สำหรับการสะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่อวกาศลดลง ทำให้บริเวณที่เคยเย็นจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ก๊าซมีเทนที่ถูกกักอยู่บริเวณพื้นมหาสมุทร ก็จะได้รับความร้อนขยายตัวแทรกมวลน้ำขึ้นสู่บรรยากาศได้มากขึ้น ทั้งที่เป็นฟอง หรือเป็นลำ มีเทนที่มีการพบเห็นกันมากครั้งขึ้นในระยะหลัง
มีเทน เป็นก๊าซเรือนกระจกสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง ปริมาณที่สูงขึ้นของมีเทนในบรรยากาศจะยิ่งไปเร่งกระบวนการเกิดโลกร้อนให้เร็วและรุนแรงขึ้น น้ำแข็งละลายเร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก ระดับน้ำทะเลก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ศาสตราจารย์คริส แรพลีย์ หนึ่งในทีมนักวิชาการของยูซีแอลชี้ไว้ด้วยว่า เมื่อความชันหรือความต่างระหว่างอุณหภูมิที่เส้นศูนย์สูตรกับอาร์กติกลดลง จะส่งผลให้เกิดกระแสอากาศที่เรียกว่า ?เจ็ตสตรีม? ขึ้นในชั้นบรรยากาศตอนบนจากที่เคยมีเสถียรภาพ ยิ่งมีเสถียรภาพน้อยลง ผลลัพธ์ก็คือ การเกิดภาวะอากาศผันผวน วิปริตรุนแรง หรือที่เราเรียกกันว่า เอ็กซตรีม เวเธอร์ อย่างที่เราเคยพบเห็นกันในช่วงปี หรือ 2 ปีที่ผ่านมานี้มากขึ้นและรุนแรงขึ้นนั่นเอง
ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345003648
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น